พุทธปริวิตก
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ทรงพระดำริต่อไปว่า อาฬารดาบสกาลามโคตรนี้ เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลี คือ กิเลสในจักษุน้อยเป็นปรกติมานาน เราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบสกาลามโคตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อาฬารดาบสกาลามโคตร สิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบว่า อาฬารดาบสกาลามโคตรสิ้นชีพได้ ๗ วันแล้ว จึงทรงพระดำริว่า อาฬารดาบสกาลามโคตรเป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน
ครั้นแล้ว ทรงพระดำริต่อไปว่า อุทกดาบสรามบุตรนี้ เป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลี คือ กิเลสในจักษุน้อยเป็นปรกติมานาน เราพึงแสดงธรรมแก่อุทก-ดาบสรามบุตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน เทพดาอันตรธานมากราบทูลพระผู้-มีพระภาคเจ้าว่า อุทกดาบสรามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบว่า อุทกดาบสรามบุตรสิ้นชีพเสียวานนี้แล้ว จึงทรงพระดำริว่าอุทกดาบสรามบุตรนี้ เป็นผู้มีความเสื่อมใหญ่ เพราะถ้าเธอได้ฟังธรรมนี้ จะพึงรู้ทั่วถึงได้ฉับพลัน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรมแก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้ว ทรงพระดำริต่อไปว่า ภิกษุปัญจ-วัคคีย์มีอุปการะแก่เรามาก ได้บำรุงเราผู้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรอยู่ ถ้ากระไรเราพึงแสดงธรรมแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ก่อน ครั้นแล้ว ได้ทรงพระดำริต่อไปว่า บัดนี้ภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ที่ไหนหนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเห็นภิกษุปัญจวัคคีย์อยู่ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ด้วยทิพพจักขุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ ครั้นพระองค์ประทับอยู่ ณ อุรุเวลาประเทศตามควรแก่พุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครพาราณสี
อุปกาชีวก
อาชีวกชื่อ อุปกะ ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินทางไกลระหว่างแม่น้ำคยาและไม้โพธิพฤกษ์ ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนอาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบธรรมของใคร เมื่ออุปกาชีวกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มี-พระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาตอบอุปกาชีวก ว่าดังนี้ :-
เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง รู้ธรรมทั้งปวงอันตัณหาและทิฏฐิ ไม่ฉาบทาแล้วในธรรมทั้งปวง ละธรรมเป็นไปในภูมิสามได้หมด พ้นแล้วเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา เราตรัส-รู้ยิ่งเองแล้ว จะพึงอ้างใครเล่า อาจารย์ของเราไม่มี คนเช่นเราก็ไม่มี บุคคลเสมอเหมือนเราก็ไม่มี ในโลกกับทั้งเทวโลก เพราะเราเป็นพระอรหันต์ในโลก เราเป็นศาสดา หาศาสดาอื่นยิ่งกว่ามิได้ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ เราเป็นผู้เย็นใจ ดับกิเลสได้แล้ว เราจะไปเมืองในแคว้นกาสี เพื่อประกาศธรรมจักรให้เป็นไป เราจะตีกลองอมตะในโลกอันมืด เพื่อให้สัตว์ได้ธรรมจักษุ
อุปกาชีวกทูลว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านปฏิญาณโดยประการใด ท่านควรเป็นผู้ชนะหาที่สุดมิได้ โดยประการนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่า นั้น ชื่อว่า เป็นผู้ชนะเช่นเรา เราชนะธรรมอันลามกแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงชื่อว่า เป็นผู้ชนะ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว อุปกาชีวกทูลว่า พึงเป็นผู้ชนะเถิดท่านผู้มีอายุ ดังนี้แล้ว ก้มศีรษะลง แล้วแยกทางหลีกไป
พระปัญจวัคคีย์
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เสด็จเข้าไปทางสำนักพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระผู้มี-พระภาคเจ้าเสด็จมาแต่ไกล แล้วได้นัดหมายกันและกันว่า ท่านทั้งหลาย พระสมณะ- โคดมนี้เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก กำลังเสด็จมา พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปถึงพระปัญจวัคคีย์นั้นไม่ตั้งอยู่ในกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวร, รูปหนึ่งปูอาสนะ, รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท, รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท, รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวาย แล้วทรงล้างพระบาท ฝ่ายพระปัญจวัคคีย์เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยระบุพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส เมื่อพระปัญจวัคคีย์กล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าเรียกตถาคตโดยระบุชื่อ และอย่าใช้คำว่า อาวุโส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พระปัญจวัคคีย์พูดทูลค้านพระผู้มี-พระภาคเจ้าว่า อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้นพระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้ พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า
เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่ใช่เป็นคนมักมาก ไม่ได้เป็นคนคลายความเพียร ไม่ได้เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่
แม้ครั้งที่สอง พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคเจ้า
แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัส
แม้ครั้งที่สาม พระปัญจวัคคีย์ได้ทูลค้านพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อาวุโสโคดม แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุ อุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถ ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐ อย่างสามารถได้เล่า
เมื่อพระปัญจวัคคีย์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอยังจำได้หรือว่า ถ้อยคำเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อนแต่กาลนี้
พระปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า คำนี้ไม่เคยได้ฟังเลย พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จักแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้แจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสามารถให้พระปัญจวัคคีย์ยินยอมได้แล้ว ลำดับนั้น พระปัญจวัคคีย์ได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาคเจ้า เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ปฐมเทศนา
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะพระปัญจวัคคีย์ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุด ๒ อย่างนี้ อันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพานนั้น เป็นไฉน
ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
ปัญญาอันเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ เจรจาชอบ ๑ การงานชอบ ๑ เลี้ยง-ชีวิตชอบ ๑ พยายามชอบ ๑ ระลึกชอบ ๑ ตั้งจิตชอบ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือ ปฏิปทาสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้แล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิน มีปรกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั้นดับโดยไม่เหลือ ด้วยมรรค คือ วิราคะ สละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ ปัญญาเห็นชอบ ๑. . . ตั้งจิตชอบ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลาย ที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขอริยสัจ, ทุกขอริยสัจนี้ ควรกำหนดรู้, ทุกขอริยสัจนี้ เราได้กำหนดรู้แล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ, ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ ควรละเสีย, ทุกขสมุทยอริยสัจนี้ เราได้ละแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ, ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ ควรทำให้แจ้ง, ทุกขนิโรธอริยสัจนี้ เราทำให้แจ้งแล้ว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราในธรรมทั้งหลายที่เราไม่เคยฟังมาก่อนว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ, ทุกข-นิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ ควรให้เจริญ, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้ เราให้เจริญแล้ว