เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์
เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ในพระเวฬุวันอุทยานนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหา-ราชได้ทรงสดับว่า ข่าวว่าบุตรของเราประพฤติทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี จึงบรรลุพระปรมาภิ-สัมโพธิญาณ แล้วประกาศพระธรรมจักรอันบวร จึงตรัสเรียกอำมาตย์คนหนึ่งมาตรัสว่า ท่านมีบุรุษพันหนึ่งเป็นบริวารเดินทางไปกรุงราชคฤห์ กล่าวตามคำของเราว่า พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพระราชบิดาของพระองค์ มีพระประสงค์จะพบ ดังนี้ แล้วจงพาบุตรของเรามา
อำมาตย์ผู้นั้นรับพระราชดำรัสของพระราชา แล้วมีบุรุษพันหนึ่งเป็นบริวาร รีบเดินทางไปสิ้นหนทาง ๖๐ โยชน์ แล้วเข้าไปยังพระวิหาร ในเวลาที่พระทศพลประทับนั่ง แสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ อำมาตย์นั้นคิดว่า พระราชสาสน์ของพระราชาที่ส่งมาจงงดไว้ก่อน จึงยืนอยู่ท้ายบริษัทฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ทั้งที่ยืนอยู่ ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับบุรุษพันหนึ่ง จึงทูลขอบรรพชา พระศาสดาทรงเหยียดพระ-หัตถ์ตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ทันใดนั้นเอง คนทั้งหมดได้เป็นผู้ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ เป็นดุจพระเถระมีพรรษา ๖๐ พรรษา
ตามธรรมดาพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกลายเป็นผู้มัธยัสถ์ไปตั้งแต่เวลาที่ได้บรรลุพระอรหัต เพราะเหตุนั้น พระผู้เป็นอำมาตย์นั้นจึงมิได้กราบทูลข่าวที่พระราชาส่งมาแด่พระทศพล พระราชาทรงดำริว่า อำมาตย์ผู้ที่ไปยังไม่กลับมา ข่าวสาสน์ก็ไม่ได้ฟัง จึงส่งอำมาตย์คนอื่นไปโดยทำนองนั้นว่า ท่านจงไป อำมาตย์แม้คนนั้นไปแล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งบริษัทก็ได้เป็นผู้นิ่งเสีย พระราชาทรงสั่งอำมาตย์อื่นไปอีก ๗ คน โดยทำนองนี้ว่า ท่านจงไป อำมาตย์ที่พระราชาทรงส่งไปนั้นทั้งหมด เป็นบุรุษบริวาร ๙ พันคน เป็นอำมาตย์ ๙ คน ทำกิจของตนเสร็จแล้ว เป็นผู้นิ่งเสีย อยู่แต่ในกรุงราชคฤห์นั้นเท่านั้น
พระราชาไม่ทรงได้อำมาตย์ผู้จะนำแม้แต่ข่าวสาสน์มาบอก จึงทรงพระดำริว่า ชนแม้มีประมาณเท่านี้ ไม่นำกลับมาแม้แต่ข่าวสาสน์ เพราะไม่มีความรักในเรา ใครหนอจักกระทำตามคำสั่งของเรา เมื่อทรงตรวจดูพลของหลวงทั้งหมดก็ได้ทรงเห็นกาฬุทายีอำมาตย์ กาฬุทายีอำมาตย์นั้นเป็นผู้จัดราชกิจทั้งปวง เป็นคนภายใน เป็นอำมาตย์ผู้มีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง เกิดวันเดียวกันกับพระโพธิสัตว์ เป็นสหายเล่นหัวกันมา ลำดับนั้น พระราชาตรัสเรียกกาฬุทายีอำมาตย์นั้นมาว่า กาฬุทายี ฉันอยากจะเห็นบุตรของฉัน จึงส่งอำมาตย์ ๙ คนกับบุรุษผู้เป็นบริวาร ๙ พันไป บรรดาคนเหล่านั้นแม้คนเดียวชื่อว่า ผู้จะมาบอกเพียงแต่ข่าวสาสน์ก็ไม่มี ก็อันตรายแห่งชีวิตของเรารู้ได้ยาก เรายังมีชีวิตอยู่ปรารถนาจะเห็นบุตร เธอจักอาจแสดงบุตรแก่เราหรือหนอ กาฬุทายีอำมาตย์กราบทูลว่า จักอาจพระเจ้าข้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าจักได้บวช พระราชาตรัสว่า เธอจะบวชหรือไม่บวชก็ตาม จงแสดงบุตรแก่เรา กาฬุทายีอำมาตย์ทูลรับพระบัญชาว่า ได้พระเจ้าข้า แล้วถือพระราชสาสน์ไปยังกรุงราชคฤห์ ยืนอยู่ท้ายบริษัทในเวลาที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม ฟังธรรมแล้ว พร้อมทั้งบริวารบรรลุพระอรหัตแล้ว บวชด้วยความเป็นเอหิภิกขุอยู่
พระศาสดาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตลอดภายในพรรษาแรกประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ออกพรรษาปวารณาแล้ว เสด็จไปประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาตลอด ๓ เดือน ทรงแนะนำชฎิลสามพี่น้อง มีภิกษุหนึ่งพันเป็นบริวาร ในวันเพ็ญเดือนยี่ เสด็จไปกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ ๒ เดือน เมื่อพระองค์เสด็จออกจากเมืองพาราณสีเป็นเวลา ๕ เดือน ฤดูเหมันต์ทั้งสิ้นได้ล่วงไปแล้ว ตั้งแต่วันที่พระกาฬุทายีเถระมาถึง เวลาได้ล่วงไปแล้ว ๗-๘ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๔ พระเถระคิดว่า บัดนี้ฤดูเหมันต์ล่วงไปแล้ว วสันตฤดูกำลังย่างเข้ามา พวกมนุษย์ถอนข้าวกล้าเป็นต้นเสร็จแล้ว ให้หนทางตามที่ตรงหน้าๆ (หมายความว่าบ่ายหน้าไปทางไหนมีทางไปได้ทั้งนั้น ) แผ่นดินก็ปกคลุมด้วยหญ้าเขียวขจี ราวป่ามีดอกไม้บานสะพรั่ง หนทางเหมาะแก่การที่จะเดินทาง เป็นกาลที่พระทศพลจะกระทำการสงเคราะห์พระญาติ ลำดับนั้น ท่านพระกาฬุทายีจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ-ภาคเจ้า พรรณนาการเสด็จดำเนินไปยังนครแห่งราชสกุลของพระทศพล ด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถาว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ต้นไม้ทั้งหลายมีสีแดง กำลังทรงผลสลัดใบแล้ว ต้นไม้เหล่านั้น สว่างโพลงดุจมีเปลวไฟ
ข้าแต่มหาวีระ ถึงสมัยที่เหมาะสมแก่การที่พระองค์จะรื่นรมย์ ฯลฯ
สถานที่ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด ไม่อัตคัดและอดอยากนัก ฟื้นภูมิภาคมีหญ้าแพรกเขียวสด ข้าแต่พระมหามุนี กาลนี้เป็นกาลสมควรที่จะเสด็จไป ดังนี้
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะพระกาฬุทายีเถระว่า ดูก่อนอุทายี เพราะเหตุไร เธอจึงพรรณนาการไปด้วยเสียงอันไพเราะ พระกาฬุทายีเถระกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้าสุทโธทนมหาราชพระบิดาของพระองค์ ทรงมีพระประสงค์จะพบเห็นพระองค์ ขอพระองค์จงทรงกระทำการสงเคราะห์พระญาติทั้งหลายเถิด พระศาสดาตรัสว่า ดีละกาฬุทายี เราจักกระทำการสงเคราะห์พระญาติทั้งหลาย เธอจงบอกแก่ภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายจักได้ทำคมิกวัตร คือ ระเบียบของผู้จะไปให้บริบูรณ์ พระเถระรับพระ-ดำรัสว่า ดีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้อมล้อมด้วยพระภิกษุขีณาสพสองหมื่นองค์ คือ ภิกษุกุลบุตรชาวเมืองอังคะและมคธะหมื่นองค์ ภิกษุกุลบุตรชาวเมืองกบิลพัสดุ์หมื่นองค์ เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์ เสด็จดำเนินวันละโยชน์หนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระ-ดำริว่า จากเมืองราชคฤห์ถึงเมืองกบิลพัสดุ์ประมาณ ๖๐ โยชน์ เราจักถึงได้โดย ๒ เดือน จึงเสด็จออกหลีกจาริกไปโดยไม่รีบด่วน ฝ่ายพระเถระคิดว่า เราจักกราบทูลความที่พระ-ผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกมาแล้วแก่พระราชา
ฝ่ายเจ้าศากยะทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจวนถึง ต่างคิดกันว่า จักเห็นพระญาติผู้ประเสริฐของพวกเรา จึงประชุมกันพิจารณาสถานที่ประทับของพระผู้-มีพระภาคเจ้า กำหนดเอาว่า อารามของเจ้าศากยนิโครธ น่ารื่นรมย์ จึงให้กระทำวิธีการซ่อมแซมทุกอย่างในอารามนั้น มีมือถือของหอมและดอกไม้ เมื่อจะทำการต้อนรับ จึงส่งเด็กชายและเด็กหญิงชาวเมืองผู้ยังเด็กๆ แต่งตัวด้วยเครื่องประดับทุกอย่างไปก่อน ต่อจากนั้น ส่งราชกุมารและราชกุมารีไป ตนเองบูชาอยู่ด้วยของหอมและดอกไม้ เป็น-ต้น ในระหว่างราชกุมารและราชกุมารีเหล่านั้น ได้พาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยัง นิโครธาราม ณ นิโครธารามนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระขีณาสพสองหมื่นแวดล้อม ประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้
ธรรมดาว่าเจ้าศากยะทั้งหลายมีมานะในเรื่องชาติ ถือตัวจัด เจ้าศากยะเหล่า- นั้นคิดกันว่า สิทธัตถกุมารเป็นเด็กกว่าพวกเรา เป็นพระกนิษฐา เป็นพระภาคิไนย เป็นพระโอรส เป็นพระนัดดาของพวกเรา จึงได้ตรัสกะราชกุมารทั้งหลายที่หนุ่มๆ ว่า พวกเธอจงพากันถวายบังคม เราทั้งหลายจักนั่งข้างหลังของพวกเธอ เมื่อเจ้าศากยะทั้งหลายเหล่านั้นไม่ถวายบังคมนั่งอยู่อย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอัธยาศัยของเจ้า-ศากยะเหล่านั้น ทรงพระดำริว่า พระญาติทั้งหลายไม่ไหว้เรา จึงทรงเข้าจตุตถฌานอันเป็นบาทแห่งอภิญญา แล้วออกจากจตุตถฌานนั้นเหาะขึ้นสู่อากาศ ทำทีโปรยธุลีพระบาทลงบนพระเศียรของเจ้าศากยะเหล่านั้น ได้ทรงกระทำปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับยมกปาฏิหาริย์ที่ควงไม้คัณฑาพฤกษ์ พระราชาทรงเห็นความอัศจรรย์นั้น จึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้-เจริญ ในวันที่พระองค์ประสูติ หม่อมฉันได้เห็นพระบาทของพระองค์ ผู้ซึ่งเขานำเข้าไปเพื่อให้ไหว้กาฬเทวิลดาบส กลับไปตั้งอยู่บนกระหม่อมของพราหมณ์ จึงได้ไหว้พระบาทของพระองค์ นี้เป็นการไหว้ครั้งแรก ของหม่อมฉัน ในวันวัปปมงคลแรกนาขวัญ หม่อมฉันก็ได้เห็นร่มเงาไม้หว้าของพระองค์ผู้บรรทมอยู่บนพระที่สิริไสยาสน์ในร่มเงาไม้หว้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง (ไปตามตะวัน) ก็ได้ไหว้พระบาท นี้เป็นการไหว้ครั้งที่สอง ของหม่อมฉัน ก็บัดนี้ หม่อมฉันได้เห็นปาฏิหาริย์ที่ไม่เคยเห็นนี้ จึงไหว้พระบาทของพระองค์ นี้เป็นการไหว้ครั้งที่สาม ของหม่อมฉัน
เมื่อพระราชาถวายบังคมแล้ว เจ้าศากยะแม้องค์เดียว ชื่อว่าเป็นผู้สามารถทรงยืนอยู่โดยไม่ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ามิได้มีเลย เจ้าศากยะทั้งปวงพากันถวายบังคมทั้งสิ้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พระญาติทั้งหลายถวายบังคมด้วยประการฉะนี้แล้ว เสด็จลงจากอากาศ ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแล้ว ได้มีการประชุมพระญาติอันถึงจุดสุดยอด เจ้าศากยะทั้งปวงเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ประทับนั่งแล้ว ลำดับนั้น มหาเมฆได้ยังฝนโบกขรพรรษให้ตกลงมา น้ำสีแดงไหลไปข้างล่าง ผู้ต้องการให้เปียกเท่านั้น จึงจะเปียก สำหรับผู้ไม่ประสงค์จะให้เปียก น้ำแม้แต่หยาดเดียวก็ไม่ตกลงบนร่างกาย เจ้าศากยะทั้งปวงเห็นดังนั้น เป็นผู้มีจิตอัศจรรย์ไม่เคยมี จึงสนทนากันขึ้นว่า น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี
พระศาสดาตรัสว่า ฝนโบกขรพรรษตกลงในสมาคมแห่งพระญาติของเราแต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในอดีตกาลก็ได้ตกแล้ว จึงตรัสเวสสันดรชาดก เพราะเหตุเกิดเรื่องนี้ขึ้น เจ้าศากยะทั้งปวงได้ฟังพระธรรมกถาแล้ว เสด็จลุกขึ้นถวายบังคมแล้วเสด็จหลีกไป
ในวันที่ ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุ ๒ หมื่นเป็นบริวาร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ ใครๆ จะลุกรับแล้วนิมนต์ หรือได้รับบาตรหามิได้ พระผู้มี-พระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ที่เสาอินทขีล ทรงนึกว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อน เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในนครแห่งสกุลอย่างไรหนอ ได้เสด็จไปสู่เรือนของเหล่าอิสรชนโดยผิดลำดับหรือ หรือว่าเสด็จเที่ยวจาริกไปตามลำดับตรอก
ลำดับนั้น ไม่ได้ทรงเห็นการไปผิดลำดับแม้แห่งพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง จึงทรงรำพึงว่า บัดนี้ วงศ์นี้และประเพณีนี้ แม้เราก็ควรยกย่อง และต่อไปถึงสาวกทั้งหลายของเรา เมื่อสำเหนียกตามเราจักยังบิณฑจาริยวัตรให้เต็มได้ แล้วเสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกจำเดิมแต่เรือนที่เสด็จเข้าไปครั้งสุดท้าย
มหาชนได้ฟังข่าวว่า พระเจ้าสิทธัตถกุมาร เสด็จเที่ยวบิณฑบาต จึงเปิดหน้าต่างในปราสาทสี่ชั้น เป็นต้น ได้เป็นผู้กุลีกุจอเพื่อจะเห็น
ฝ่ายพระเทวี ผู้มารดาพระราหุล ทรงจินตนาว่า พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยพระยานมีสุวรรณสีวิกาเป็นต้น ด้วยพระราชานุภาพใหญ่ในพระนครนี้ บัดนี้ ทรงปลง-พระเกสา และพระมัสสุเสีย ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ มีกระเบื้องในพระหัตถ์ เสด็จเที่ยวบิณฑบาต พระองค์จะทรงงดงามไหมหนอ หรือว่าไม่ทรงงดงาม จึงทรงเปิดพระสีห-บัญชรทอดพระเนตร ทรงเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งงามสง่าด้วยพระพุทธสิริ ทรงยังนครวิถีทั้งหลายให้โอภาส ด้วยพระสรีระรัศมีอันรุ่งเรื่องด้วยรัศมีนานา จึงทรงชมพระ-โฉม จำเดิมแต่พระอุณหิสจนถึงฝ่าพระบาทด้วย ๘ คาถา แล้วเสด็จไปเฝ้าพระราชากราบ-บังคมทูลแด่พระราชาว่า พระลูกเจ้าของฝ่าพระบาทเสด็จเที่ยวบิณฑบาต พระราชาทรงสดับข่าวนั้น ทรงสลดพระหฤทัย พลางทรงจัดพระภูษาให้รัดกุมด้วยพระหัตถ์ รีบด่วนเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับเบื้องพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลว่า พระเจ้าข้า ทำไมจึงทรงยังหม่อมฉันให้ได้อายเล่า พระองค์เสด็จเที่ยวบิณฑบาตเพื่อประโยชน์อะไรพระองค์ได้เป็นผู้มีความสำคัญอย่างนี้ว่า ภิกษุมีประมาณเท่านี้ ไม่อาจได้ภัตหรือ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร การเที่ยวบิณฑบาตนี้เป็นจารีตสำหรับวงศ์ของอาตมภาพ
พระราชาทูลถามว่า ขึ้นชื่อว่ามหาสมมติขัตติยวงศ์ เป็นวงศ์ของพวกเรามิใช่หรือ ก็ในขัตติยวงศ์นั้น แม้กษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่อว่าผู้เที่ยวภิกษาย่อมไม่มี
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสนองว่า มหาบพิตร ชื่อว่าราชวงศ์ เป็นวงศ์ของมหาบพิตร แต่ขึ้นชื่อว่าพุทธวงศ์ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ได้เป็นผู้เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ดังนี้ คงประทับยืนในท้องถนน ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
บุคคลไม่พึงประมาทในบิณฑบาต อันคนพึงลุกยืนรับ พึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ด้วยว่า ผู้มีปกติประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น
พระราชาได้ทรงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ในกาลที่จบแห่งพระคาถา และได้ทรงสดับพระคาถานี้ว่า :-
บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมนั้นให้เป็นทุจริต ด้วยว่าผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้และโลกอื่น
พระราชาได้ทรงทำให้แจ้งซึ่งสกทาคามิผล ในกาลที่จบแห่งคาถานี้
ดังนี้แล้ว จึงทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเชิญเสด็จพระผู้มีพระ-ภาคเจ้ากับทั้งบริษัทขึ้นสู่พระมหาปราสาท ทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียะอันประณีต
ในเวลาเสร็จภัตกิจ นางสนมกำนัลทั้งปวง เว้นพระมารดาพระราหุลได้มาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนพระนางนั้น แม้อันชนบริวารทูลว่า ขอพระแม่เจ้าจงเสด็จไปถวายบังคมพระลูกเจ้า ได้รับสั่งว่า ถ้าความดีของเรามีอยู่ พระลูกเจ้าจักเสด็จมาเอง เราจักถวายบังคมพระองค์ผู้เสด็จมาแล้ว ดังนี้ มิได้เสด็จไป
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงยังพระราชาให้ถือบาตรแล้ว พร้อมด้วยพระอัคค-สาวกทั้ง ๒ เสด็จไปสู่ห้องอันมีสิริของพระราชธิดา ตรัสว่า พระราชธิดาจงไหว้ตามชอบ อย่าพึงว่ากล่าวอย่างไรเลย แล้วประทับบนพระที่นั่งอันเขาแต่งตั้งไว้ พระนางเสด็จมาโดยเร็ว ทรงจับที่ข้อพระบาทกลิ้งเกลือกพระเศียรบนหลังพระบาท ถวายบังคมตามพระ-อัธยาศัย พระราชาตรัสคุณสมบัติ มีความรักและความนับถือมากเป็นต้นในพระผู้มีพระ-ภาคเจ้า ของพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธิดาของหม่อมฉันได้สดับว่า พระองค์ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ ตั้งแต่นั้นก็เป็นผู้นุ่งห่มผ้าสายะ ได้สดับว่า พระองค์เสวยพระกระยาหารหนเดียว ก็เป็นผู้เสวยภัตหนเดียวบ้าง ได้สดับว่า พระองค์ละเลิกที่นอนใหญ่ ก็บรรทมบนเตียงน้อยอันขึงด้วยแผ่นผ้า ทราบว่า พระองค์ทรงเว้นจากดอกไม้และของหอม เป็นต้น ก็งดเว้นดอกไม้และของหอมบ้าง เมื่อพระญาติทั้งหลายส่งข่าวมาว่า เราทั้งหลายจักปรนนิบัติ ก็มิได้เหลียวแลพระญาติเหล่านั้นแม้พระองค์เดียว ข้าแต่พระ- องค์ผู้เจริญ พระธิดาของหม่อมฉันเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติอย่างนี้ พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ข้อที่พระราชธิดาที่พระองค์รักษาอยู่ในบัดนี้ รักษาตนได้ในเมื่อญาณแก่กล้าแล้ว ไม่น่าอัศจรรย์ เมื่อก่อน พระราชธิดานี้ไม่มีการอารักขา เที่ยวอยู่ที่เชิงเขาก็ยังรักษาตนได้ ในเมื่อญาณทั้งที่ยังไม่แก่กล้า แล้วทรงลุกขึ้นจากอาสนะเสด็จหลีกไป
ในวันรุ่งขึ้น เมื่องานวิวาหมงคลเนื่องในการเสด็จเข้าพระตำหนักอภิเษกของนันทราชกุมารกำลังเป็นไปอยู่ พระศาสดาเสด็จไปยังตำหนักของนันทราชกุมารนั้น ทรงให้พระกุมารถือบาตร มีพระประสงค์จะให้บวช ตรัสเรื่องมงคลแล้วทรงลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป นางชนบทกัลยานีเห็นพระกุมารกำลังเสด็จไป จึงทูลว่า ข้าแต่พระ-ลูกเจ้า ขอพระองค์จงกลับมาโดยด่วน นันทกุมารนั้นไม่อาจทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอพระองค์ทรงรับบาตร จึงได้เสด็จไปยังพระวิหารเหมือนกัน นันทกุมารไม่ปรารถนาเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงให้บวชแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ ทรงให้นันทะบวชในวันที่ ๓
พระนันทะนั้น ระลึกถึงคำพูดของเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีบ่อย ๆ ก็กระสัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลบอกเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระ-ประสงค์จะทรงกำจัดความไม่ยินดีของพระนันทะจึงตรัสว่า ดูก่อนนันทะ เธอเคยไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไหม พระนันทะทูลบอกว่า ข้าพระองค์ไม่เคยไปพระเจ้าข้า แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระนันทะนั้นไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพของพระองค์ แล้วประทับยืนที่ประตูเวชยันตปราสาท ท้าวสักกะทรงทราบการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้อันหมู่อัปสรแวดล้อมแล้ว เสด็จลงจากปราสาท นางอัปสรเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เคยให้น้ำมันทาเท้าแก่สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระ-นามว่า กัสสป จึงเป็นผู้มีเท้าดุจเท้าของนกพิราบ
แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่าพระนันทะยินดียิ่งในพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ทรงสั่งภิกษุทั้งหลายว่า จงเตือนนันทะ ด้วยวาทะว่าลูกจ้าง พระ- นันทะนั้น อันภิกษุเหล่านั้นเตือนอยู่ละอายแล้วมนสิการโดยแยบคาย ปฏิบัติแล้วไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต เทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไม้ ใกล้ที่สุดจงกรมของพระ- นันทะนั้น ได้ทูลบอกเรื่องนั่นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ญาณก็ได้บังเกิดแม้แก่พระผู้มีพระ-ภาคเจ้า ภิกษุทั้งหลายเมื่อไม่รู้ก็เตือนพระผู้มีอายุเหมือนอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอไม่พึงเตือนนันทะเหมือนอย่างนั้น ทรงแสดงความที่พระนันทะนั้นเป็นมุนีผู้ขีณาสพ
ในวันที่ ๗ แม้พระมารดาของพระราหุล ก็ทรงแต่งองค์พระกุมารแล้วส่งไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า เจ้าจงดูพระสมณะนั้น ซึ่งมีวรรณแห่งรูปดังรูปพรหม มีวรรณดังทองคำ ห้อมล้อมด้วยสมณะสองหมื่นรูป พระสมณะนี้เป็นบิดาของเจ้า พระ-สมณะมีขุมทรัพย์ใหญ่ จำเดิมแต่พระสมณะนั้นออกบวชแล้ว แม่ไม่เห็นขุมทรัพย์เหล่า-นั้น เจ้าจงไปขอมรดกกะพระสมณะนั้นว่า ข้าแต่พระบิดา ข้าพระองค์เป็นกุมารได้รับอภิเษกแล้วจักได้เป็นจักรพรรดิ ข้าพระองค์ต้องการทรัพย์ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์แก่ข้าพระองค์ เพราะบุตรย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์มรดกของบิดา พระกุมารก็ได้ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ความรักในฐานเป็นบิดา มีจิตใจร่าเริง กราบทูลว่า ข้า-แต่พระสมณะ ร่มเงาของพระองค์เป็นสุข แล้วได้ยืนตรัสถ้อยคำอื่นๆ และถ้อยคำอันสมควรแก่ตนเป็นอันมาก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำภัตกิจแล้ว ตรัสอนุโมทนาเสร็จแล้ว ทรงลุกจากอาสนะเสด็จหลีกไป ฝ่ายพระกุมารกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ ขอพระองค์จงประทานทรัพย์มรดกแก่ข้าพระองค์ แล้วติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป พระผู้มีพระ-ภาคเจ้าไม่ให้พระกุมารกลับ แม้ปริวารชนก็ไม่อาจยังพระกุมารผู้เสด็จไปกับพระผู้มีพระ-ภาคเจ้าให้กลับได้ พระกุมารนั้นได้ไปยังพระอารามนั้น พร้อมกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า กุมารนี้ปรารถนาทรัพย์อันเป็นของบิดา ซึ่งเป็นไปตามวัฏฏะ มีแต่ความคับแค้น เราจะให้อริยทรัพย์ ๗ ประการ ซึ่งเราได้เฉพาะที่โพธิมัณฑ์แก่กุมารนี้ เราจะทำกุมารนั้นให้เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกอันเป็นโลกุตระ จึงตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรมาว่า สารีบุตร ท่านจงให้ราหุลกุมารบวช พระ-เถระให้ราหุลกุมารนั้นบวชแล้ว เมื่อพระกุมารบวชแล้ว ความทุกข์มีประมาณยิ่งเกิดขึ้นแก่พระราชา พระองค์เมื่อไม่อาจทรงอดกลั้นความทุกข์นั้นได้ จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มี-พระภาคเจ้า ตรัสขอพรว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอโอกาส พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ไม่พึงบวชบุตรที่บิดามารดายังไม่อนุญาต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พรแก่ท้าว
เธอ
ในวันรุ่งขึ้น ทรงกระทำภัตกิจในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระราชาประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในคราวที่พระองค์ทรงทำทุ